การแต่งงาน เป็นพิธีการซึ่งบุคคลสองคนรวมเข้ากันในการสมรสหรือสถาบันที่คล้ายกัน ประเพณีและจารีตประเพณีแตกต่างกันมากตามวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา ประเทศ และชนชั้นทางสังคม พิธีการแต่งงานส่วนมากเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนคำสาบานแต่งงานโดยคู่สมรส การมอบของขวัญ (ของถวาย แหวน สิ่งที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ ดอกไม้ เงิน) และการประกาศการแต่งงานสาธารณะโดยผู้มีอำนาจหรือผู้นำ คู่สมรสมักสวมชุดแต่งงานพิเศษ และมักตามด้วยงานเลี้ยงแต่งงาน (wedding reception)
• การสู่ขอ – ฝ่ายชายก็จะให้ญาติผู้ใหญ่ที่ตนให้ความเคารพ ไปสู่ขอผู้หญิงกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง
• การหมั้น – หลังจากที่มีการสู่ขอแล้ว ขั้นต่อไป ฝ่ายชายก็จะจัดขบวนขันหมากไปที่บ้านของฝ่ายหญิง
• พิธีแต่งงาน – ตอนเช้าจะทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ รดน้ำสังข์เพื่อให้ญาติผู้ใหญ่ ที่นับถือได้เป็นสักขีพยานในการแต่งงาน จากนั้นก็มักจะมีการกินเลี้ยงกัน
• ชุดวิวาห์ - ชุดที่ใส่ในพิธีแต่งงานโดยชุดดังกล่าวนั้นจะสวมใส่เฉพาะฝ่ายหญิงหรือสตรีผู้เป็นเจ้าสาวเรียกว่าชุดวิวาห์ ซึ่งมีหลากหลายสีตามชนชาติ และวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ แต่ส่วนมากจะเป็นสี ขาว ครีม งาช้าง ชมพู แดง ทอง ล้วนแต่เป็นสีที่มงคลที่นำมาสวมใส่ไม่นิยมสวมใส่สีที่ไม่เป็นมงคล เช่น สีดำ สีม่วง
การแต่งงานของชาวอินเดีย เจ้าบ่าวชาวอินเดียได้รับการยกย่องว่าเป็นวิษณุ ซึ่งถือว่าเหมาะสมกับเจ้าสาวผู้ถือว่าเป็นของขวัญล้ำค่าที่เทพเจ้าสมควรได้รับ ส่วนเจ้าสาวชาวอินเดียเปรียบดั่งเทพธิดาลักษมี รูปแบบชุดแต่งงานและเครื่องประดับจึงเหมือนเทพธิดา ส่วนใหญ่นิยมสวมส่าหรี และเครื่องประดับ อันได้แก่ สร้อยคอ กำไล แหวน แหวนจมูก กำไลข้อเท้า และแหวนนิ้วเท้า ส่วนเจ้าบ่าวมักสวมชุดแบบโบราณ โดยเฉพาะทางตอนใต้ของอินเดียเจ้าบ่าวมีผ้าโพกศีรษะ ประดับดอกไม้ เพื่อปกป้องเจ้าบ่าวจากสิ่งเลวร้าย พิธีสำคัญ คือ เมเฮนดี พิธีเพนต์ตามร่างกายว่าที่เจ้าสาว จากความเชื่อว่าสีน้ำตาลแดงที่เพนต์ เป็นตัวแทนความมั่งคั่งร่ำรวย ที่เจ้าสาวจะนำมาสู่ครอบครัวฝ่ายชาย[1]