สำหรับใครที่ได้มาอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น พอวันหนึ่งที่คุณเริ่มมีเพื่อนมีฝูง แล้วจู่ๆก็ได้รับเชิญไปงานแต่งงาน ไม่ต้องตกใจไป! บทความนี้จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทราบในการเข้าร่วมงานแต่งงานในญี่ปุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดง่ายๆ (ที่สุดแสนจะน่าอาย) ที่เคยมีคนทำไว้ในอดีต และเตรียมความมั่นใจว่าทุกสิ่งจะดำเนินไปอย่างราบรื่นตั้งแต่ต้นจนจบของงาน เรามาเริ่มจากขั้นตอนพื้นฐานกันก่อนเลย
การตอบรับคำเชิญอาจดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ถือเป็นมารยาทที่สำคัญประการหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะไปร่วมงานหรือไม่ไปก็ตาม ก็ควรต้องตอบรับคำเชิญด้วย ซึ่งการ์ดเชิญงานแต่งงานส่วนใหญ่จะมีแผ่นกระดาษสำหรับใส่ใบตอบรับแนบมาด้วย ข้อควรระวังก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่อาจกระทบความรู้สึกของเจ้าภาพในการตอบรับ ซึ่งเราจะพูดถึงเรื่องนี้โดยละเอียดด้านล่าง ในกรณีที่ไม่สามารถไปร่วมงานได้ ก็ควรมอบของขวัญแทน ซึ่งสำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้วจะนิยมให้เงินสดเป็นของขวัญในงานแต่งงาน
การให้เงินสดหรือ “โกะชูงิ (goshugi)” เป็นของขวัญที่นิยมมอบในงานแต่งงานของญี่ปุ่น (คล้ายกับที่ประเทศไทย) ซึ่งแสดงถึงการมีส่วนร่วมกับงานโดยตรง และเนื่องจากมีการคาดหวังให้แขกมอบเงินสำหรับงานแต่งงาน ดังนั้นอย่าลืมเตรียมเงินสำหรับมอบเป็นของขวัญงานแต่งงานไว้ด้วย มิฉะนั้นอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกได้
สำหรับเรื่องจำนวนเงิน โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 เยน ซึ่งอาจน้อยหรือมากกว่านี้เล็กน้อยขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับคู่แต่งงาน เช่น ผู้บังคับบัญชามักจะถูกคาดหวังให้มอบเงินเป็นจำนวนมากขึ้น หรือหากเป็นแขกผู้หญิงก็อาจมอบเงินเป็นจำนวนน้อยลงได้ เนื่องจากต้องจ่ายทั้งค่าแต่งหน้า ค่าชุด ค่าทำผม และอื่นๆ แม้อาจดูเหมือนเป็นเงินจำนวนมาก แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายคู่แต่งงานอาจรับเงินเป็นจำนวนน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของแขกผู้ร่วมงาน ดังนั้น สำหรับนักศึกษาที่ไม่มีเงินมากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเกินตัวแต่อย่างใด โดยอาจจะลองถามคู่บ่าวสาวดูก่อนว่าจะขอลดมูลค่าของขวัญลงหน่อยได้หรือไม่
เมื่อคุณทราบถึงจำนวนเงินที่ควรจะมอบให้คู่บ่าวสาวแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมจัดของขวัญ โดยคุณต้องซื้อการ์ดแต่งงานสำหรับใส่เงิน (หน้าตาแบบในภาพประกอบด้านบน) และตัวธนบัตรที่จะใช้มอบเป็นของขวัญจะต้องใหม่ สะอาด และไม่อยู่ในลักษณะพับ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายๆที่ธนาคาร เท่านี้คุณก็มีของขวัญพร้อมสำหรับงานแต่งงานแล้ว
เรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนและมีความใกล้เคียงกับวัฒนธรรมตะวันตก แต่ก็มีกฎเกณฑ์พิเศษบางอย่างที่ต้องปฏิบัติตาม
สำหรับผู้หญิง จะต้องใส่ชุดที่มิดชิดและไม่เปิดเผยมากเกินไป (เช่น ชุดเกาะอก และควรใส่กระโปรงยาวเลยเข่า แต่ก็ไม่ควรยาวเกินไปจนดูเหมือนชุดเจ้าสาว) และสามารถใส่เครื่องประดับชิ้นเล็กๆที่ไม่ดูโดดเด่นเกินไป ทั้งนี้จะต้องมีผ้าคลุมไหล่แบบผ้าโปร่งหรือผ้าทึบก็ได้ รวมถึงจะต้องไม่ใส่ชุดสีขาว เนื่องจากเป็นสีสำหรับชุดเจ้าสาว
สำหรับผู้ชายนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก เพียงใส่ชุดสูทที่ดูดีโดยเป็นสีแบบเรียบง่าย เช่น สีดำ และแน่นอนว่าต้องผูกเนคไทด้วย ทั้งนี้สามารถใส่สีอื่นๆที่เหมาะสมได้ ยกเว้นสูทสีขาวด้วยเหตุผลเดียวกันกับฝ่ายผู้หญิง
อาจดูเหมือนมีกฎเกณฑ์หลายอย่าง แต่ถ้าผ่านไปได้แล้วจะต้องสนุกแน่นอน เพียงแค่ทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ และหลีกเลี่ยงการใช้สีต้องห้าม คุณก็สามารถร่วมสนุกกับงานแต่งงานได้แล้ว!
ผู้เข้าร่วมงานแต่งงานบางคนอาจได้รับเชิญให้ขึ้นไปกล่าวอะไรเล็กๆ น้อยๆ โดยไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน โดยเฉพาะแขกที่เป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวในงาน เนื่องจากค่อนข้างโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ และอาจมีคนสนใจอยากฟังว่าคุณจะพูดออกมาอย่างไร โดยเฉพาะหลังจากที่คุณดื่มเหล้าจนได้ที่ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการตื่นเวที และอาการหน้าแดงที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ ควรที่จะต้องรู้เกร็ดเล็กๆเกี่ยวกับสิ่งที่ควรและไม่ควรพูดเอาไว้ โชคดีที่ชาวญี่ปุ่นปกติแล้วมีความสุภาพและมักปรบมือให้ผู้พูดไม่ว่าจะพูดอะไรก็ตาม อย่ากลัวที่จะใช้ภาษาอังกฤษ เพราะคุณเป็นชาวต่างชาติ และบางทีคนอื่นๆ อาจคาดหวังให้คุณพูดภาษาอังกฤษก็ได้! แค่เพียงระวังอย่าใช้คำพูดต้องห้าม ที่คนญี่ปุ่นถือ ซึ่งเราจะพูดถึงในข้อถัดไป…
มีคำต้องห้ามหลายอย่างที่ไม่ควรพูดในงานแต่งงานญี่ปุ่น ซึ่งทุกคำก็ล้วนแต่สื่อถึงความหมายที่คล้ายกัน เดาได้ไหมว่าหมายถึงสิ่งใด? ตัวอย่างคำเหล่านั้น ได้แก่ “ลา” “ตัด” “ปิด” “แยก” “แตก” “แบ่ง” และ “หาร” ซึ่งพอจะเดาได้ไม่ยาก เพราะนั่นคือคำที่เกี่ยวข้องกับการสิ้นสุดชีวิตสมรสและถือเป็นคำอัปมงคลตามความเชื่อเก่าแก่ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 ซึ่งยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่คำว่า “ซ้ำ” และ “อีกครั้ง” ก็ถือเป็นคำต้องห้าม เนื่องจากสื่อถึงการแต่งงานใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงการหย่าร้างด้วย ดังนั้นหากได้รับเชิญให้ขึ้นไปกล่าวอะไรเล็กๆ น้อยๆ (ซึ่งมีโอกาสสูงสำหรับชาวต่างชาติ) กรุณาหลีกเลี่ยงคำเหล่านี้ มิฉะนั้นคุณอาจกลายเป็นต้นเหตุให้คู่แต่งงานหย่าร้างกันได้!
แม้จะไม่ใช่เนื้อหาสำคัญในบทความนี้ แต่ก็ควรทราบไว้ว่างานแต่งงานที่จะเข้าร่วมนั้นเป็นงานประเภทใด โดยงานแต่งงานที่คุณอาจได้รับเชิญนั้นแบ่งออกเป็นสองประเภท
เมื่อพูดถึงงานแต่งงานแบบญี่ปุ่น รูปแบบงานแต่งประเภทแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึง ได้แก่ งานแต่งงานแบบชินโต ซึ่งจะจัดในศาลเจ้า โดยเฉพาะในช่วงดอกซากุระบาน เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะสวมชุดกิโมโนอันสวยงาม และเจ้าสาวก็มักจะสวมวิกผมด้วย งานแต่งงานประเภทนี้มักจำกัดเฉพาะบุคคลในครอบครัว ตามด้วยการรับกลุ่มเพื่อนฝูงที่ใหญ่ขึ้น งานประเภทนี้มีความเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริง และเป็นงานประเภทที่ชาวต่างชาติจำนวนมากเชื่อว่าเป็นรูปแบบงานแต่งงานที่เป็นที่นิยมมากที่สุดของญี่ปุ่น
แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป งานแต่งงานแบบชินโตนั้น ได้รับความนิยมน้อยลง โดยคู่รักในปัจจุบันนิยมจัดงานแต่งงานแบบตะวันตกกันมากขึ้น
งานแต่งงานประเภทที่สอง น่าจะเป็นที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเป็นงานแต่งงานที่ใช้รูปแบบตามอย่างตะวันตก ซึ่งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะใส่ชุดแบบตะวันตก โดยเจ้าสาวจะใส่ชุดเดรสสีขาวขนาดใหญ่ ส่วนเจ้าบ่าวจะใส่ชุดสูทสีดำ สำหรับสถานที่จัดงานนั้นจะเป็นห้องที่มีลักษณะคล้ายโบสถ์คริสต์ โดยเจ้าสาวจะเดินไปหาเจ้าบ่าวตามทางเดินระหว่างแถวที่นั่ง และมีบาทหลวงเฉพาะกิจมาประกอบพิธีเพื่องานนี้โดยเฉพาะ! หลังจากเสร็จพิธีแล้วก็จะเป็นขั้นตอนการจัดงานเลี้ยง ซึ่งมักจัดขึ้นในห้องจัดเลี้ยงงานแต่งงานของโรงแรม หรืออาจจัดขึ้นที่บาร์ในบริเวณใกล้เคียงก็ได้
หากปฏิบัติตามขั้นตอนที่เราแนะนำในบทความนี้แล้ว เชื่อว่าคุณจะสามารถรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และเข้าร่วมงานแต่งงานญี่ปุ่นได้อย่างมืออาชีพแน่นอน! โปรดจำไว้ว่าเมื่องานจบลงแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การร่วมสนุกและเฉลิมฉลองให้กับคู่สามีภรรยาเพื่อ (หวังว่าจะมี) ชีวิตแต่งงานที่ยาวนานและยั่งยืน และสุดท้ายนี้อย่าลืมอวยพรคู่บ่าวสาวให้มีความสุขด้วยภาษาญี่ปุ่นว่า “โกะเข็กคง โอเมเดโต โกะไซมัส (Gokekkon omedetou gozaimas – ご結婚おめでとうございます)!” แปลว่า ขอแสดงความยินดีในวันแต่งงาน